ป่าชุมชน เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา เป็นทางเลือกในการจัดการทรัพยากรนิเวศป่าไม้โดยมีชุมชนเป็นฐาน หรือเป็นการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน ที่มีวิถีปฏิบัติเป็นระบบสิทธิหน้าหมู่ หรือเป็นระบบทรัพยากรร่วมของชุมชน นอกจากนั้น ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ได้กล่าวถึงป่าชุมชน ว่าเป็นกิจกรรมของคนชนบทในการจัดการทรัพยากรต้นไม้และป่าไม้ เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวและชุมชน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและมอบอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปลูก จัดการ ป้องกัน และเก็บหาผลประโยชน์จากป่าไม้ภายใต้ระบบการจัดการที่ยั่งยืน ที่รวมถึงป่า ทั้งที่เป็นป่าบก ป่าชายเลน รวมถึงป่าพรุและบุ่งทาม ประกอบด้วย ต้นไม้ ทุ่งหญ้า พันธุ์พืช สัตว์ป่า แหล่งน้ำ และสรรพสิ่งในธรรมชาติที่เป็นระบบนิเวศทั้งหมด ป่าชุมชนอาจตั้งอยู่รอบหมู่บ้าน รอบแหล่งชุมชน หรืออาจอยู่ใกล้เคียงกับชุมชน ชุมชนนั้นอาจจะเป็นชุมชนที่เป็นทางการ เช่น หมู่บ้าน อบต. หรือชุมชนตามประเพณีก็ได้ และก็อาจจะเป็นหนึ่งชุมชน หรือหลายชุมชนที่มาจัดการป่าชุมชนร่วมกันก็ได้ โดยที่คนในชุมชนนั้นๆ อาจเลือกใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการรักษาระบบนิเวศก็ได้ขึ้นอยู่กับคนในชุมชนเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจ ว่าจะใช้ประโยชน์อะไร และอย่างไรจากป่า จะดูแลรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาป่าชุมชนอย่างไร ป่าชุมชนมีขอบเขตขนาดไหนที่ชุมชนจะดูแลได้ทั่วถึง
credit ภาพโดย อบต.ทุ่งมน
นอกจากนั้น ในแวดวงของนักปฏิบัติการในงานพัฒนาสังคมและทรัพยากร ยังให้ความสำคัญต่อ ป่าชุมชน ว่าเป็นมากกว่ากิจกรรมทางสังคม แต่เป็น กระบวนการการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ หากทำได้อย่างเหมาะสม ความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ชุมชนกับคนในสังคม คนกับคน จะถูกเปลี่ยนไปและนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่และสวัสดิการของชุมชน และการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม
ขอบคุณบทความจาก : https://www.recoftc.org/thailand |